ข้อเท้าแพลง (Ankle sprain)

ผศ.นพ.มารุต อรุณากูร
ภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

ข้อเท้าแพลงเป็นการบาดเจ็บที่พบได้บ่อยที่สุดในการเล่นกีฬาโดยสาเหตุเกิดจากมีการบิด หมุน หรือพลิกของข้อเท้าจนเกินช่วงการเคลื่อนไหวปกติ ทำให้เอ็นยึดข้อต่อถูกยืดออกมากจนเกิดการบาดเจ็บขึ้น ซึ่งเดิมเราเคยมองว่าข้อเท้าแพลงเป็นการบาดเจ็บที่ไม่รุนแรง แต่เมื่อไม่นานมานี้ความเห็นดังกล่าวได้เปลี่ยนไป เพราะการรักษาที่ไม่เหมาะสม อาจทำให้มีอาการปวดและข้อเท้าแพลงซ้ำ ๆ ไปอีกหลายปี ประมาณ 20-30 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยข้อเท้าแพลงต้องประสบกับภาวะข้อเท้าไม่มั่นคงเรื้อรัง (chronic ankle instability) ซึ่งทางการแพทย์ได้แบ่งความรุนแรงของการบาดเจ็บออกเป็น 3 ระดับ

  • ระดับที่ 1 ข้อเท้าแพลงชนิดไม่รุนแรง คือ เอ็นถูกดึงหรือยืดมากเกินไป ทำให้เอ็นบาดเจ็บ แต่เส้นใยของเอ็นไม่ฉีกขาด อาจจะพบเพียงบวมและกดเจ็บบริเวณเอ็นที่ได้รับบาดเจ็บ สามารถเดินเดินลงน้ำหนักได้
  • ระดับที่ 2 ข้อเท้าแพลงชนิดรุนแรงปานกลาง คือ มีการฉีกขาดของเอ็นบางส่วน ทำให้ข้อเท้ามีความมั่นคงลดลง ในกลุ่มนี้จะปวดและบวมค่อนข้างมากและอาจมีเลือดคั่ง จนอาจจะทำให้เดินลงน้ำหนักไม่ค่อยได้
  • ระดับที่ 3 ข้อเท้าแพลงชนิดรุนแรงที่สุด คือจะมีการฉีกขาดของเอ็นทั้งหมด ทำให้ข้อเท้าสูญเสียความมั่นคง ในกลุ่มนี้จะมีอาการปวดบวมมากและมีเลือดคั่ง ไม่สามารถเดินลงน้ำหนักได้

การดูแลเบื้องต้นเมื่อข้อเท้าแพลง

ทำตามสูตร RICE นั่นคือ พัก (Rest) ประคบน้ำแข็ง (Ice) กระชับ (Compress) และยกเท้าสูง (Elevation)

  1. Rest: ลดการใช้งานของข้อที่ได้รับบาดเจ็บ
  2. Ice: ในการประคบเย็น อาจจะใช้น้ำแข็งผสมน้ำใส่ถุงพลาสติกห่อด้วยผ้าอีกชั้นหนึ่งหรือใช้ cold pack แล้ววางที่บริเวณที่บาดเจ็บโดยปกติสามารถวางได้นานถึง 20 นาที หรือจนมีความรู้สึกชา โดยให้ทำเช่นนี้ทุก 2-4 ชั่วโมง เป็นเวลา 2 วัน
  3. Compress: ใช้ผ้ายืดพันรอบตั้งแต่โคนนิ้วเท้าจนถึงกลางหน้าแข้งโดยพันแน่นบริเวณส่วนปลายเพื่อลดบวม
  4. Elevation: นอนยกข้อเท้าข้างที่เจ็บสูงเหนือหัวใจโดยอาจนำหมอนมาหนุน เพื่อป้องกันของเหลวสะสม

เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเอ็นข้อเท้าบาดเจ็บ (ข้อเท้าแพลง)

  • แพทย์อาจจะส่งตรวจภาพถ่ายรังสีในกรณีที่สังสัยว่ามีกระดูกหักร่วมด้วย เช่นบริเวณตาตุ่มด้านใน ตาตุ่มด้านนอก และกระดูกฝ่าเท้าที่ 5
  • แพทย์จะประเมินความรุนแรงของการบาดเจ็บแล้วให้การรักษา โดยการรักษาในระยะแรกจะมุ่งเน้นเพื่อลดความปวดและบวมซึ่งได้แก่ หลักการ RICE การให้ยาแก้ปวดและยาลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ และอาจจะพิจารณาใส่เฝือกกรณีมีการบาดเจ็บรุนแรงมาก (ใส่เฝือก 2-3 อาทิตย์) ส่วนการรักษาในระยะต่อมาจะเป็นการทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพของกล้ามเนื้อและความรู้สึกของเอ็นรอบข้อเท้าเพื่อที่จะเป็นการป้องกันการเกิดการบาดเจ็บซ้ำ ซึ่งโดยทั่วไปใช้เวลาประมาณ 4-6 สัปดาห์ แต่ในรายที่บาดเจ็บรุนแรงมากอาจใช้เวลาถึง 3 เดือน

Leave a reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *