การผ่าตัดข้อสะโพกด้วยการส่องกล้อง (Hip Arthroscopy)

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ พิสิฏฐ์ เลิศวานิช
สาขาเวชศาสตร์การกีฬา ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

ข้อสะโพกเป็นข้อต่อระหว่างหัวกระดูกต้นขาซึ่งมีลักษณะกลมเคลื่อนไหวอยู่ในเบ้าสะโพก ทำให้ข้อสะโพกมีทิศทางการเคลื่อนไหวเป็นอิสระได้หลายทิศทาง ข้อสะโพกมีความสำคัญในการเคลื่อนไหวของร่างกาย โดยมีความสำคัญในการถ่ายแรงจากลำตัวลงสู่ขาทั้งสองข้าง ซึ่งแรงกดที่ข้อสะโพกก็จะแตกต่างกันไปตามแต่กิจกรรมการใช้งาน ยกตัวอย่างเช่น ในการยืนลงน้ำหนักที่ขาทั้งสองขาจะมีแรงกดที่ข้อสะโพกเพียงร้อยละ 30 ของน้ำหนักตัว แต่ในขณะที่วิ่งแรงกระทำอาจเพิ่มไปถึง 4.5 เท่าของน้ำหนักตัว ที่ขอบเบ้าสะโพกยังมีกระดูกอ่อนที่เรียกว่า “เลบรัม” (labrum) ซึ่งช่วยเพิ่มความลึกของเบ้าสะโพกและช่วยกระจายแรง นอกจากนี้ยังมีเอ็นของข้อสะโพกและกล้ามเนื้อหลายกลุ่มห่อหุ้มข้อสะโพกอยู่โดยรอบ ช่วยเสริมความมั่นคงของข้อสะโพก

เนื่องจากข้อสะโพกเป็นข้อที่อยู่ลึกต่างจากข้อเข่าหรือข้อเท้าซึ่งอยู่ตื้นสามารถคลำได้ง่าย ทำให้ผู้ป่วยที่มีปัญหาข้อสะโพกอาจบอกตำแหน่งที่มีอาการปวดได้ไม่ชัดเจน โดยอาจจะระบุตำแหน่งที่ปวดทั้งทางด้านหน้าบริเวณขาหนีบ ด้านข้างบริเวณปุ่มนูนของกระดูกต้นขาส่วนต้น ด้านหลังบริเวณก้นหรืออาจมีอาการปวดร้าวไปตามต้นขาและบางครั้งอาจปวดร้าวไปถึงบริเวณเข่าได้ อาการปวดที่มีนั้นส่งผลรบกวนการใช้งานของข้อสะโพกในกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น การเดิน การนั่ง การก้มตัว การวิ่ง การเล่นกีฬาต่าง ๆ เป็นต้น ผู้ป่วยอาจมีอาการเดินกะเผลก หรือมีการจำกัดของวงการเคลื่อนไหวของข้อสะโพก ผู้ป่วยในประเทศไทยอาจให้ประวัติในลักษณะที่เป็นความลำบากในการนั่งกับพื้น นั่งพับเพียบ หรือนั่งขัดสมาธิ ซึ่งเป็นที่ท่าที่ต้องมีการบิดหมุนของข้อสะโพกมาก

พยาธิภาพบริเวณข้อสะโพกที่ทำให้มีอาการปวดนั้นสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่คือ

  1. พยาธิสภาพภายในข้อสะโพก (intra-articular pathology) เช่น ความผิดปกติของกระดูกอ่อนผิวข้อ การฉีกขาดของเลบรัม การบาดเจ็บของเส้นเอ็นภายในข้อสะโพก การติดเชื้อของข้อสะโพก การมีเศษกระดูกขัดอยู่ในข้อ การผิดรูปของเบ้าสะโพกและหัวกระดูกต้นขา เป็นต้น
  2. พยาธิสภาพภายนอกข้อสะโพก (extra-articular pathology) ได้แก่ การบาดเจ็บหรือการอักเสบของเส้นเอ็นรอบข้อสะโพก การฉีกขาดของกล้ามเนื้อ เป็นต้น

การผ่าตัดข้อสะโพกด้วยการส่องกล้อง (hip arthroscopy) นั้น ในอดีตมีข้อจำกัดในการนำมาใช้รักษาปัญหาของข้อสะโพก อันเนื่องมาจากการที่ตำแหน่งของข้ออยู่ลึก มีหลอดเลือดและเส้นประสาทหลายเส้นอยู่ในบริเวณใกล้เคียง ช่องว่างในข้อต่อค่อนข้างแคบ ยากต่อการใส่อุปกรณ์เข้าไปทำผ่าตัด แต่ปัจจุบันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคนิคการผ่าตัด ทำให้ลดความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายต่อหลอดเลือดและเส้นประสาท มีการใช้เตียงผ่าตัดพิเศษเพื่อดึงหัวกระดูกต้นขาให้ห่างออกจากเบ้าสะโพก ทำให้เกิดที่ว่างในการใส่เครื่องมือในการผ่าตัดเข้าไปทำงานภายในข้อ และยังมีการออกแบบเครื่องมือซึ่งมีลักษณะที่ปลายโค้ง หรือยืดงอได้ เพื่อสามารถเข้าทำผ่าตัดในตำแหน่งที่อยู่ลึกได้ นอกจากเทคนิคในการผ่าตัดแล้ว เทคนิคทางรังสีวิทยาก็ยังมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็วเช่นกัน การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือเอ็มอาร์ไอ ทำให้เห็นความผิดปกติของเนื้อเยื่อต่าง ๆ บริเวณข้อสะโพก ซึ่งไม่สามารถเห็นได้จากภาพเอกซเรย์ ทำให้การวินิจฉัยพยาธิสภาพของข้อสะโพกมีความละเอียด แม่นยำมากขึ้น ทำให้การผ่าตัดชนิดนี้มีความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรป และอเมริกา

การผ่าตัดข้อสะโพกด้วยการส่องกล้องนั้น สามารถใช้ผ่าตัดพยาธิสภาพในข้อสะโพก ได้ในหลายลักษณะ เช่น ตัดแต่งกระดูกอ่อนผิวข้อ เลบรัม และเอ็นภายในข้อ เย็บซ่อมเลบรัม ล้างข้อสะโพกที่มีการติดเชื้อ เอาเศษกระดูกที่ขัดอยู่ภายในข้อสะโพกออก การกรอแต่งขอบเบ้าสะโพกและส่วนคอของกระดูกต้นข้า เป็นต้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้หลายอย่างในอดีตอาจต้องรอจนผู้ป่วยมีอาการมากเสียก่อน จึงทำการผ่าตัดแบบเปิดหรือทำการเปลี่ยนข้อเทียม การผ่าตัดส่องกล้องจึงเป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้ป่วยในการรักษาความผิดปกติของข้อสะโพกได้เร็วก่อนที่จะมีอาการแย่ลง หรือกลายเป็นข้อสะโพกเสื่อม อีกทั้งการส่องกล้องมีแผลผ่าตัดขนาดเล็กว่า และมีทำให้เกิดการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อรอบ ๆ ข้อสะโพกน้อยกว่าการผ่าตัดแบบเปิด ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดหลังการผ่าตัดน้อยลง และสามารถฟื้นฟูสภาพร่างกายได้เร็วขึ้น

แต่อย่างไรก็ตาม มีบางภาวะที่ไม่สามารถทำผ่าตัดโดยการส่องกล้องได้ ทำได้ยาก หรือได้ผลไม่ดี เช่น การที่มีข้อติดแข็งเคลื่อนไหวได้น้อยทำให้ไม่สามารถดึงข้อสะโพกเพื่อใส่เครื่องมือผ่าตัด การมีการติดเชื้อของผิวหนังบริเวณที่จะทำผ่าตัดซึ่งมีความเสี่ยงในการทำให้เชื้อกระจายเข้าไปในข้อได้ ภาวะเบ้าสะโพกตื้นในผู้ป่วยอายุน้อย ซึ่งควรได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดเปิดเพื่อจัดแนวกระดูกใหม่ หรือการที่มีข้อสะโพกเสื่อมมากแล้วซึ่งการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมให้ผลการรักษาที่ดีกว่า เป็นต้น

hip-arthroscopy-01

รูปที่ 1 ศัลยแพทย์ทำการผ่าตัดส่องกล้องข้อสะโพก ภาพภายในข้อสะโพกจากกล้องจะแสดงบนจอมอนิเตอร์

hip-arthroscopy-02

รูปที่ 2 ภาพรังสีในระหว่างผ่าตัด แสดงถึงการที่ส่วนหัวกระดูกต้นขาถูกดึงให้ห่างออกจากเบ้าสะโพก
ทำให้เกิดช่องว่างสำหรับใส่กล้องและเครื่องมือเข้าไปทำการผ่าตัดภายในข้อ

hip-arthroscopy-03

รูปที่ 3 ภาพส่วนหนึ่งของข้อสะโพกในขณะผ่าตัดส่องกล้อง

One Comment

  1. เอกชัย อุไรสินธว์

    Posted on 14 July, 2020 at 14:20

    สวัสดีครับ

    ผมมีปัญหากระดูกงอกที่ขอบเบ้าข้อสะโพกซ้ายและขวา ทำให้เวลาขยับขาจะมีอาการปวด และมีอาการปวดมาเวลานั่งราบ นั่งสมาธิ และเดินหรือยืนนานๆ ทำการรักษาตามอาการมานานหลายปีแล้วที่ รพ หัวเฉียวแต่ก็ไม่ดีขึ้นเลย คุณหมอแนะนำว่าต้องใช้วิธีการผ่าตัดข้อสะโพกด้วยการส่องกล้องแต่ไม่สามารถทำได้ที่หัวเฉียว เพราะไม่มีเครื่องมือและแพทย์ที่ชำนาญการ

    ลักษณะของปัญหาที่กระดูกเป็นตามรูปในลิ้งค์นี้ครับ

    https://scontent.fbkk7-3.fna.fbcdn.net/v/t1.0-9/13510832_10207390851030472_2302925911047081292_n.jpg?_nc_cat=101&_nc_sid=730e14&_nc_oc=AQkXdqnYUc0YjbKTP6M5mCT-I6uiybhh6IE9OoHVwssHMNw8zRmoUOvoHDLk00SUDnY&_nc_ht=scontent.fbkk7-3.fna&oh=2387170a58ec55d1b2f26a71e59e0a75&oe=5F32FF8E

    จะขอรบกวนปรึกษาว่าพอมีทางรักษาได้ไหมครับ
    ผมมีแผนจะอุปสมบท (เป็นเวลายาวอาจจะไม่มีกำหนดลาสิกขา) ในอีกประมาณ 2-3 ปีข้างหน้า หากไม่รักษาให้หาย เกรงจะเป็นอุปสรรคในการปฏิบัติกิจของสงฆ์

    ขอบพระคุณล่วงหน้าครับ
    เอกชัย อุไรสินธว์

Leave a reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *